เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

วัดดอนบุบผาราม ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

หมายเหตุ : คำว่า "บุบผา" ที่นี่ใช้ "บ" ใบไม้สะกด ไม่ได้เขียนอย่างปกติทั่วไปแบบ "บุปผา"

     วัดดอนบุบผาราม ตั้งอยู่ริมฝั่งของแม่น้ำท่าจีน ด้านทิศตะวันตกของริมน้ำ เลขที่ 218 หมู่ 3 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา จดทะเบียนเป็นวัดถูกต้องเมื่อ พ.ศ.2341 มีที่ดิน 38 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา สี่เหลี่ยมผืนผ้า

     สถานะเดิม ชื่อวัดตะค่า (มะค่า) สมัยที่สร้างวัดคงมีไม้มะค่ามากมายหลายต้น หรือมีต้นมะค่าใหญ่ขึ้นอยู่ในบริเวณที่สร้างวัดจึงใช้สัญลักษณ์ของต้นไม้ขึ้นเป็นชื่อของวัด ต่อมาสมัยที่พระครูธรรมสารรักษา ที่ 2 รองจังหวัด เป็นเจ้าอาวาส ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ให้ชื่อว่า “วัดโคกดอกไม้” ต่อมาในระยะหลัง ๆ ซึ่งเป็นสมัยของพระครูธรรมสารรักษานั้นเอง เห็นว่าชื่อของวัดออกจะเป็นไทย ๆ มากไป จึงเปลี่ยนชื่อให้ไพเราะชวนฟัง โดยใช้ภาษาไทยผสมภาษาบาลี ว่า “วัดดอนบุบผาราม”

วัดดอนบุบผาราม ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี 

     เจ้าอาวาสรูปเดิมตามคำบอกเล่าเท่าที่จำกันได้ คือ
     1. ท่านสมภารมี ก่อนท่านสมภารมีเป็นเจ้าอาวาส ไม่มีผู้ใดทราบเพราะไม่มีหลักฐานปรากฏ ท่านสมภารมีดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสได้กี่พรรษาไม่มีปรากฎ
     2. ท่านสมภารอ่อง  ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสได้กี่พรรษาไม่มีปรากฏเช่นกัน
     3. พระครูธรรมสารรักษาที่ 2 รองเจ้าคณะจังหวัด ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนบุบผาราม เมื่อ พ.ศ. 2411 – 2469 รวม 58 พรรษา
     4. พระครูศรีคณานุรักษ์ (สม ยาอุไร) อดีตเจ้าคณะอำเภอศรีประจันต์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ. 2470 – 2532 รวม 62 พรรษา
     5. พระครูอาภัสสรกุล ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน

วัดดอนบุบผาราม ศรีประจันต์ สุพรรณบุรีวัดดอนบุบผาราม ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

     วัดดอนบุบผาราม จัดได้ว่าเป็นวัดที่พัฒนามาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยพระครูธรรมสารรักษา (อ้น) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ได้ปรับปรุงวัด จัดระเบียบกุฎิให้อยู่ในระบบ คือมีกุฎิสมภารอยู่ตรงกลางหลังหอสวดมนต์ หน้าวัดหันไปทางแม่น้ำท่าจีน ด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้ และด้านทิศตะวันตก ล้อมไปด้วยกุฎิลูกวัด กุฏิยกพื้นตลอดมีชานแล่นถึงกันเดินได้รอบสะดวกแก่การตรวจวัด (ควบคุมดูแลวัตต์ปฏิบัติของภิกษุสามเณร)สร้างวิหารและอุโบสถไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สร้างศาลาการเปรียญและพระปรางค์ไว้ทางทิศเหนือ โดยเฉพาะพระปรางค์สูง 12 วา 2 ศอก 9 นิ้ว ฐาน 8 เหลี่ยมเส้นผ่าศูนย์กลางของฐานยาว 6 วา สร้างศาลาดินหน้าพระปรางค์ 2 หลัง ท่าน้ำ 2 หลัง สร้างศาลาใหม่ไว้ทางทิศตะวันออกของวัดอีก 1 หลัง ขออนุญาตเปิดโรงเรียนประชาบาล เมื่อ พ.ศ. 2451 ชื่อ “โรงเรียนประสิทธิ์วิทยาภรณ์” ใช้ศาลาการเปรียญ เป็นสถานที่เรียนไปพลาง ๆ ก่อน ต่อมาสมัยพระครูศรีคณานุรักษ์ เป็นเจ้าอาวาสได้สร้างอาคารเรียน 2 ชั้น ทรงปั้นหยาชื่อว่า “โรงเรียนเติมวิทยา”
      สมัยพระครูศรีคณานุรักษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ได้ปรับปรุงซ่อมแซมสร้างกุฏิขึ้นมาใหม่ อันดับแรกย้ายจากสถานที่ตั้งเดิม ไปทางทิศใต้ห่างจากเดิมประมาณ 40 วา จัดตามผังที่ได้คิดไว้ คือสถานที่ตั้งกุฏิ รวมทั้งหอสวดมนต์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้พื้นที่ของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า กุฏิแถวใต้ห่างเขตวัดประมาณ 15-20วา หน้าวัดห่างจากแม่น้ำท่าจีนประมาณ 25-30 วา ลักษณะหอสวดมนต์ และ กุฏิสมภารให้คงไว้ตามแนวเดิม คือกุฏิสมภารอยู่ตรงกลางหลังหอสวดมนต์  กุฏิล้อมรอบมีชานแล่นถึงกันตลอด แต่จัดกุฏิหลังใหม่วางไว้หน้าทั้งด้านเหนือและด้านใต้ นอกนั้นลดหลั่นกันไปจัดแนวให้เข้าระเบียบ ต่อมา พ.ศ. 2498  ขอพระราชทานวิสุงคามสี เริ่มสร้างอุโบสถทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2500 ค่าก่อสร้าง 640,000 บาท พ.ศ. 2511 สร้างเขื่อนหน้าวัดยาว 5 เส้นเศษ ค่าก่อสร้าง160,000 บาท  พ.ศ.2513 สร้างศาลาการเปรียญ กว้าง 9 วา ยาว 20 วา ออกชาน 3 ด้าน รวมพื้นที่ศาลาการเปรียญ 242 ตารางวา ค่าก่อสร้าง 1,000,000 บาท พ.ศ. 2528 บูรณะวิหารและอุโบสถหลังเก่า สร้างหอระฆัง ค่าก่อสร้าง 600,000 บาท
     ครบรอบอายุปีของพระครูศรีคณานุรักษ์ ศิษยานุศิษย์จัดงานทำบุญทุกปี กราบบังคมทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก องค์ที่ 18 เสด็จมาในงานถึง 2 วาระ คือวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2521 และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2525 กราบอาราธนาเจ้าประคุณสมเด็จมาเจริญพระพุทธมนต์หลายครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2525 กราบอาราธนาเจ้าประคุณสมเด็จเจริญพระพุทธมนต์ 5 รูป กราบบังคมทูลสมเด็จพระสังฆราชประทานพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์
     สมัยพระครูอาภัสสรกุล  ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ได้รักษาสถานะของกุฏิไว้ให้คงอยู่ในสถานะเดิม ได้ดำเนินนโยบายต่อจากพระครูศรีคณานุรักษ์ คือสร้างพระพุทธรูปปางองค์ใหญ่ ปางประทานพร เป็นพระหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ แท่น 8 เหลี่ยม สูงจากพื้นถึงเกศพระพุทธรูป 15 เมตร ค่าก่อสร้าง 3,399,900 บาท เทคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณวัดหน้าศาลาการเปรียญ ในเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ค่าก่อสร้างทั้งหมด 890,000 บาท

วัดดอนบุบผาราม ศรีประจันต์ สุพรรณบุรีวัดดอนบุบผาราม ศรีประจันต์ สุพรรณบุรีวัดดอนบุบผาราม ศรีประจันต์ สุพรรณบุรีวัดดอนบุบผาราม ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

แผนที่การเดินทางไปวัดดอนบุบผาราม อ.ศรีประจันต์