เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

งานครบรอบ 49 ปี

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอำเภอศรีประจันต์

11-13 ตุลาคม2559
ริมน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์
ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ งาน 49 ปี

     กรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ และชาวตลาดศรีประจันต์  ขอเชิญเที่ยวงานครบรอบ 49 ปี  ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอำเภอศรีประจันต์ ตอน"แตรวงสายย่อ" ชิงแชมป์ เจ้าพ่อศรีประจันต์ วันอังคารที่ 11-13 ตุลาคม 2559 นี้ ริมน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์

     ขอเชิญทุกท่านมาสักการะ ขอพร ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สนุกกับบรรยากาศรำวงย้อนยุค ชมการแสดงงิ้วเปลี่ยนหน้าทุกค่ำคืน เทศกาลอาหารอร่อย สวนสนุก ชมถีบและรถจักรยานยนต์โบราณหายาก พร้อมชมการแข่งขันประกวดแตรวง จากทั่วประเทศ ชิงเงินรางวัลมากกว่า 20,000 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

สมัครประกวดแตรวงและนางรำ ได้ที่ โทร 094-170-9004, 092-586-3111, 063-218-7080, 080-655-5335
จองร้านค้าโทร 089-689-0453

คัดลอกข้อมูลจากเพจ facebook iconสุพรรณบ้านเรา ขอขอบคุณครับ

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

ประวัติศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์

     เจ้าพ่อหลักเมือง จัดว่าเป็นเทพเจ้าประจำถิ่นอันศักดิ์สิทธิ์ จะมีปรากฏทั่วไปในชุมชนที่มีชาวจีนอาศัยรวมกันจำนวนมากในประเทศไทย เจ้าพ่อหลักเมืองจะไม่พบองค์รูปเทพเจ้า และไม่ว่าสถานที่ใด จะเรียกว่า เจ้าพ่อหลักเมือง (ไม่มีแซ่ หรือตระกูลจะมีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่มีแซ่หรือตระกูล คือหลักเมืองสุพรรณบุรี และหลักเมืองเขาสามมุก ชลบุรี เท่านั้น เพราะเทพเจ้าแซ่เจียะ (แปลว่า หิน ) โดยทั่วไปชาวจีนจะเรียกเทพเจ้าประจำถิ่นหรือเจ้าพ่อหลักเมืองว่า ปึงเถ้ากง หรือ เล่าปึงเถ่ากง เล่า แปลว่า อาวุโส หรือปึงเถ่ากงม่า (ม่า แปลว่า แม่ แม่คุณ) ส่วนสุพรรณบุรีและเขาสามมุก เรียกเทพเจ้าประจำถิ่นว่า เจียะปึงเถ่ากง สาเหตุเนื่องจากที่เขาสามมุกสถานที่อยู่บนเขาหิน ส่วนที่สุพรรณขุดพบองค์เทพเจ้าซึ่งเป็นศิลาแลง

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

     ก่อนที่จะมีการสร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์อย่างในปัจจุบัน ในชุมชนตลาดศรีประจันต์ เดิมนั้นจะปรากฎศาลด้วยกันสองแห่ง คือ ศาลแห่งแรก ตั้งอยู่ระหว่างกลางของสถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นศาลยกพื้นไม้สูงประมาณ 1.05 เมตร ทรงหน้าจั่วแหลม ไม่มีรูปเทพเจ้าปรากฏ แต่มีอักษรจีนตัวใหญ่ เขียนไว้ (อักษร จีน อ่านว่า ซิ้ง แปลว่าเทพเจ้า)

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

     ศาลอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่หลังตลาดเหนือ ซึ่งแต่เดิมเป็นคานเรือ (ปัจจุบันอยู่บริเวณบ้านช่อง) อยู่ระหว่างคานเรือ และตลาด ศาลกว้างประมาณ 2 เมตร ลักษณะยื่นไปในแม่น้ำ มีสะพานเดินข้ามเข้าไปในศาลได้ ศาลตั้งอยู่บนเนินดินมีน้ำล้อมรอบ ลักษณะที่ดินคล้ายรูปเต่าอยู่ในน้ำ มีหัวเต่าเป็นเนินดินแคบ ๆ อยู่ประมาณ 1.5 เมตร ยื่นลงไปในแม่น้ำ ตัวศาลอยู่บนเนินดินคล้ายกระดองเต่า เนินดินกว้างประมาณ 5 เมตร มีขาทั้งสี่ข้าง (ลักษณะโดยรวมคล้ายเต่ามาก) ศาลไม่มีรูปเทพเจ้าปรากฎ มีแต่อักษรจีน ศาลแห่งนี้มีจุดเด่นที่กระถางธูปเป็นศิลาแลง หนาประมาณ 3 นิ้ว กว้างและสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เทศกาลงานประเพณีทิ้งกระจาดของจังหวัดสุพรรณบุรี จะอัญเชิญกระถางธูปดังกล่าวไปร่วมงานทุกครั้ง ศาลแห่งนี้ ตระกูลแซ่โอ หรือ ต้นตระกูล สุวรรณประทีป (หลวงอนุกูลราชกิจทิทอง) เป็นผู้ก่อสร้าง เดิมชาวตลาดจะหวงกระถางธูปนี้มาก ด้วยเกรงว่าจะมีการสับเปลี่ยนกระถาง ถึงกับต้องมีการใส่รหัสไว้ที่กระถางธูป แต่ในปัจจุบันกระถางธูปดังกล่าวหายสาบสูญไม่ปรากฏหลักฐานว่าหายไปตั้งแต่เมื่อใด

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

     สถานที่นี้เคยปรากฏสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นเมื่อปี 2485 จังหวัดสุพรรณบุรีเกิดน้ำท่วมใหญ่ เป็นปีที่เรียกว่า ปีน้ำมาก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตลาดน้ำท่วมหมดทุกหนแห่ง เว้นแต่สถานที่ตั้งศาลน้ำไม่ท่วม ชาวตลาดพากันร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ว่าเป็นที่ดินเต่า สามารถลอยพ้นน้ำได้จึงทำให้ผู้ที่เคารพนับถือมากขึ้นตามลำดับ

     ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกาลเวลา ตลาดเติบโตขึ้นมีความเจริญมากขึ้น จึงมีการขยายตลาดออกไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นที่ดินของวัดยาง ตลาดใหม่นี้เรียกว่า ตลาดใต้ ตั้งแต่ปี 2492 เป็นต้นมา เมื่อความเจริญเข้ามาถึง ทุกอย่างย่อมผันแปร ก่อนนั้นการสัญจรไปมาจะอยู่ในทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ยุคสมัยเปลี่ยนมาเจริญในทางบกแทน มีการสร้างถนนหนทางมากขึ้น ทางที่ว่าการอำเภอก็มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน ทางอำเภอมีความต้องการที่จะใช้สถานที่ที่เป็นที่ตั้งของศาลเล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างกลางสถานีตำรวจกับที่ว่าการอำเภอ จัดสร้างเป็นหอประชุมจึงต้องมีการขยับขยายศาลเล็กไปสร้างขึ้นทางด้านหลังวัดยาง ซึ่งแต่เดิมเป็นสถานที่รกร้างใกล้ป่าช้า และห่างไกลตลาดในขณะนั้น โดยก่อตั้งศาลไม้ ในรูปแบบเดิม แต่กว้างใหญ่มากขึ้นกว่าเก่า กว้างประมาณ 3 เมตร สูงประมาณ 4 เมตร

     ศาลตั้งอยู่ประมาณ 10 ปี ทางคานเรือ นายยนต์ ภาตะนันต์ มอบที่ดินเพิ่มเติมทำให้พื้นที่ดินมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งชาวชุมชนตลาดศรีประจันต์ จึงมีความคิดที่จะสร้างศาลทั้งสองแห่งรวมเป็นศาลเดียวกัน และทำให้ใหญ่ถาวรด้วยลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก (รูปแบบจีนโบราณ) ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน และเสริมสร้างให้สง่างามตามยุคสมัย ทั้งนี้มีความคิดเป็นหนึ่งไม่แยกเป็นเหนือ-ใต้ หลายฝ่ายมีมติเป็นเอกฉันท์ โดยช่วยกันบริจาคทรัพย์เพื่อใช้ในการก่อสร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ อย่างท่วมท้น จึงได้ถมดินรุกลงไปในแม่น้ำเพิ่มขึ้นอีก เป็นการขยายให้กว้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ ปัจจุบันจึงไม่มีสภาพหลังเต่าให้เห็น ไม่เหลือร่องรอยดินในลักษณะรูปเต่าโบราณให้รับรู้อีกเลย ศาลหลักเมืองแห่งใหม่นี้สร้างแล้วเสร็จ ให้ชาวศรีประจันต์สักการะบูชาในปี 2531

     ต่อมาทางราชการได้มีนโยบายสร้างสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ทำให้ตัวสะพานเฉียดกับที่ตั้งศาล อีกทั้งบริเวณส่วนหน้าศาลซึ่งแต่เดิมเป็นริมน้ำ ได้มีการนำดินมาถมเป็นพื้นที่สูง และมีการสร้างบ้านเรือนบดบังทัศนียภาพบริเวณด้านหน้าศาล โดยรวมแล้วจึงเป็นสถานที่ตั้งศาลผิดหลักฮวงจุ้ยที่ดี จึงได้มีการขยับขยายที่ตั้งศาลหลักเมืองอีกแห่งเพื่อให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย

     ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์แห่งใหม่ จึงได้จัดสร้างใหม่ขึ้นริมเขื่อนแม่น้ำท่าจีน (บริเวณหน้าสถานีตำรวจ) จัดสร้างและวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันอาทิตย์ 29 พฤศจิกายน 2541 ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 1 จุลศักราช 1360 เวลา 11.19 น.สมโณฤกษ์ (ฤกษ์สงบ) แล้วเสร็จเปิดศาลแห่งใหม่นี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2543 เพื่อเป็นที่เคารพและสักการบูชาของชาวตลาดศรีประจันต์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

จากข้อมูลจากคำบอกเล่าของท่านอาจารย์ ย่ง แซ่ลิ้ม (ลิ้มเต็กเฮง) เมื่อสิริอายุ 95 ปี (ซ้ง) เรียบเรียงและบันทึก โดย นายวิฑูรย์ บุญมาลีตระกูล 

หมายเหตุ : ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลเผยแพร่ ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์

 ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

แผนที่การเดินทางไปศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์

 

อัลบั้มรูปภาพ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์

เรื่องดี ๆ ที่เราแนะนำให้คุณคลิกเข้าไปอ่าน

share now2