เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

501chetsamian   

โฉมหน้าของเด็กตลาดเจ็ดเสมียน ในรุ่นของผมและรุ่นน้องๆ มีผู้เขียนอยู่ในนี้ด้วย

ในระหว่างปิดเทอมใหญ่ในปีหนึ่งนั้น โรงเรียนประชาบาลในชนบทหยุดยาวมาก ชีวิตที่บ้านเจ็ดเสมียนนั้น เด็กๆอย่างพวกผมก็ไม่ได้ทำอะไรกัน  วันๆหนึ่งก็ไปยิงนก ตกปลาไปตีผึ้ง ตามเรื่อง ผมเคยเดินไปกับเพื่อนๆหลายคน จากสถานีรถไฟ เดินไปตามทางรถไฟ ไปทางคลองมะขามซึ่งห่างจากตลาดเจ็ดเสมียนไปทางทิศเหนือ

   เห็นนกที่เกาะอยู่บนสายโทรเลข ต่างคนต่างก็แย่งกันเอาหนังสติ๊กยิง โดยมากมักจะเป็นนกเอี้ยง นกกะเต็น ที่ตัวเขียวๆ และนกกระเด้าลม ที่ปีกขาวดำ หัวขาวดำซึ่งชอบมาเกาะที่สายโทรเลข และพวกผมก็วนเวียนอยู่ในตำบลเจ็ดเสมียน นั่นเอง 

  แล้วในวันหนึ่งก็มีข่าวใหญ่ที่น่ายินดีมากๆ สำหรับชาวเจ็ดเสมียนและคนทั่วๆไป รวมทั้งพวกเราชาวเด็กเจ็ดเสมียนด้วย ข่าวนี้ก็คือว่ามีบริษัทการค้าแห่งหนึ่ง มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้มาติดต่อลุงหงวนป้าฮวย พ่อและแม่ของไอ้โห้ (ุรพงษ์  แววทอง  เพื่อนของผมเป็นเด็กตลาดเจ็ดเสมียน รุ่นเดียวกัน) 

  เขาบอกว่าอยากจะให้ป้าฮวยเป็นตัวแทนของบริษัทของเขา หรือเป็นคนกลางในการกว้านซื้อเปลือกหอยกาบ ที่เขากินเนื้อมันแล้วและเอาไปทิ้งไว้ หรือไปกองไว้ที่ไหนก็แล้วแต่ ให้เอาไปขายให้ป้าฮวย และให้ป้าฮวยรับซื้อไว้ให้หมด  (เปลือกหอยกาบนี้ จนถึงปัจจุบันนี้ ผมก็ยังไม่ทราบว่า เขาซื้อไปทำอะไร )

 ให้ซื้อเอาไว้อย่างไม่อั้นมีเท่าไรรับซื้อไว้ให้หมด อย่าให้เหลือแม้แต่กาบเดียว และเมื่อป้าฮวยรวบรวมซื้อไว้ได้มากๆแล้ว ให้ป้าฮวยส่งข่าวไปบอกบริษัทนี้ที่กรุงเทพฯ ทางบริษัทจะรีบส่งรถมารับเปลือกหอยเหล่านี้ไปทันที และจะให้ราคาในการช่วยซื้อไว้นี้ ในราคาอย่างน้อย กก.ละ ๓ บาท    (เงิน๓ บาทในสมัยเมื่อหลายปีมาแล้วนั้น ก็ไม่น้อยเหมือนกัน)

 20090826 1551687223

ผู้เขียน (คนนั่งสูง) กับน้อง นั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง เมื่อเป็นเด็กที่ตลาดเจ็ดเสมียน 

   เมื่อเป็นดังนั้นป้าฮวยจึงได้พูดคุยกันกับตัวแทนของบริษัท ที่จะมารับซื้อเปลือกหอยอย่างมั่นเหมาะแล้ว ป้าฮวยก็มาคิดตรองดู อยู่ดีๆก็จะได้กำไรเหนาะๆอย่างน้อย กก.ละ ตั้ง ๒ บาท โดยไม่ต้องออกแรงอะไรเลย เพียงแต่ออกเงินรับซื้อจากชาวบ้านไว้ก่อนเท่านั้นเอง  

   ต่อมาป้าฮวยจึงได้ออกป่าวประกาศไปทันทีว่า

   " ใครมีเปลือกหอยกาบอย่าได้เก็บเอาไว้มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก สู้เอามาขายให้ฉันดีกว่าได้เงินใช้ด้วยดีกว่าอยู่เปล่า ๆ"

ป้าฮวยแกบอกอย่างนั้น (ป้าฮวยคือผู้ก่อตั้ง "ผักกาดหวานแม่กิมฮวย เชลชวนชิม"แห่งตำบลเจ็ดเสมียน มาจนถึงปัจจุบันนี้ )

   เมื่อข่าวกระจายออกไปตั้งแต่วันนั้นมาไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ที่อยู่ที่เจ็ดเสมียนหรืออยู่ใกล้เคียง ที่อยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไร ก็จะเริ่มมองหาแหล่งขุดคุ้ยกันตามพื้นดิน ที่คิดว่าจะมีการทิ้งเปลือกหอยที่ต้มทำอาหารกินกันแล้วกลบไว้แถวๆนั้นบ้าง เช่นพื้นดินหลังบ้านที่เคยเป็นที่ทิ้งขยะหรือที่ทิ้งเศษอาหาร 

     บางคนก็ลงทุนขุดต้นกล้วยออกหมดทั้งยวงหรือขุดหลุมตรงโคนต้นมะม่วง เพราะจำได้ว่าเมื่อแต่ครั้งโบราณที่ยังเป็นเด็กๆอยู่นั้น  พ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย เคยไปงมหอยกาบที่แม่น้ำมาทำอาหารกินกัน แล้วทิ้งลงไปในหลุมที่ขุดเอาไว้สำหรับทิ้งขยะ แล้วต่อมาที่ตรงนั้นได้ปลูกต้นกล้วยทับเอาไว้กลายเป็นดงกล้วย

    บางคนก้มๆเงยๆมองดูในหลุม ที่ตัวเองขุดแล้วเกิดเวียนหัวหงายหลังผลึ่งลงไปเสียนี่ แหมอุตส่าห์ลงทุนขุดต้นกล้วยออกทั้งแถบ เหนื่อยแทบตายพอขุดลงไปแล้ว ได้เปลือกหอยกาบเพียงสิบกว่าฝาเท่านั้น แล้วก็บ่นพึมพำ 

     " โธ่เอ๋ย ปู่กูย่ากูหนอ กินหอยกาบได้ยังไง กินกันแค่สิบกว่าตัวเท่านั้น"

พลางก็นึกเสียดายต้นกล้วยที่ขุดขึ้นมาเสียหมดสิ้น

   ที่บ้านลุงเกียป้าแจ่มขายขนมจีนที่อยู่เยื้องๆกับสถานีรถไฟนั่นไง ไอ้มูลลูกป้าแจ่มซึ่งเป็นเพื่อนกับผม มันไปถามป้าแจ่มแม่มันว่า 

   "เคยเห็นเตี่ยเอาหอยกาบ ที่ไปงมมาได้จากในน้ำที่ท่าใหญ่ เตี่ยผัดเผ็ดกินแล้วเอาเปลือกหอยกาบ ไปทิ้งที่ไหนหมดล่ะแม่ " 

้าแจ่มแกก็บอกไอ้มูลว่า

   " ไม่รู้เหมือนกันว่าเตี่ยมึง (ลุงเกีย) เอาเปลือกหอยไปทิ้งเสียที่ไหน กูไม่ได้คอยดูอยู่นี่หว่า"

พูดเสร็จก็เคี้ยวหมากที่อยู่ในปากต่ออีก ปากงี้แดงเถือก

   ดังนั้นบริเวณบ้านของป้าแจ่มจึงรอดพ้น จากการลุยขุดพื้นบริเวณบ้านไปอย่างหวุดหวิด บางคนก็ขุดตามไต้ถุนบ้านและบริเวณบ้านพรุนไปหมด ได้บ้างไม่ได้บ้างมากบ้างน้อยบ้าง ไม่เว้นแม้แต่พื้นดินรอบๆบ้าน และริมรั้วก็ถูกขุดคุ้ย และค้นหาเปลือกหอยกาบกันราบไปหมด

    เด็กตลาดบางพวกรุ่นใหญ่รุ่นพี่ของผม ก็ไปด้อมๆมองๆแถวๆท่าใหญ่ ซึ่งเป็นปากคลองหลังตลาดเจ็ดเสมียน เวลาหน้าน้ำๆจะไหลเข้าคลองผ่านศาลเจ้าหลังตลาด และตรงนั้นเป็นประตูปิดเปิดน้ำคอนกรีตด้วย คลองนี้จะลอดทางรถไฟไปสู่ท้องทุ่งนาไกลๆโน้น

   เด็กเหล่านี้หมายใจว่าตรงแถวท่าใหญ่นี้แหละต้องมีเปลือกหอยกาบกันบ้างแหละ เพราะว่าเคยเห็นพวกรุ่นพี่รุ่นน้าเขาเคยมางมหอยกันที่ท่าใหญ่นี้บ่อยๆ กำนันโกวิท (กำนันชื่อดังแห่งตำบลเจ็ดเสมียน) มาเห็นเข้าก็ปรามๆเอาไว้ว่าห้ามมาขุดดินที่ท่าใหญ่เป็นขาด จึงไม่มีเด็กคนใดมากล้าขุดดินที่ท่าใหญ่นี้ เพราะว่ากลัวฤทธิเดชกำนัน

IMG 6388 

นายโกวิท วงศ์ยะรา กำนันตำบลเจ็ดเสมียน เมื่อสมัยที่ผมเป็นเด็ก    

มีบางพวกถึงกับลงทุนเสี่ยงตายไปงมหอยกาบกันที่  “วังอีหนีบ” ตรงคุ้งน้ำหน้าวัดใหม่ชำนาญ (ชื่อมันไม่ค่อยไพเราะ มีคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนชื่อจาก "วังอีหนีบ" มาเป็น "วังลึก" เสียเลย

   ที่ได้ชื่อว่า วังอีหนีบ ก็เพราะว่าในสมัยก่อนนั้นน้ำในแม่น้ำแม่กลอง โดยเฉพาะในหน้าน้ำขึ้น น้ำหลากจะพัดพากระแสน้ำอันเชี่ยวกราก มาจากทางเหนือคือมาจาก เมืองกาญจน์ ผ่านบ้านโป่งผ่านตลาดโพธาราม แล้วก็ไหลมาถึงท่าน้ำตำบลเจ็ดเสมียนแล้วก็ไหลผ่านเรื่อยไปถึงตัวเมืองราชบุรี 

เมื่อน้ำไหลผ่านตลาดเจ็ดเสมียนไปถึงตรงโค้ง วัดใหม่ชำนาญ ตรงเกือบถึงวัดใหม่ชำนาญซึ่งปัจจุบันนี้เขาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ไว้ตรงใกล้ๆนี้แล้ว.....

10183

ในตอนเย็นเด็กเจ็ดเสมียนกลุ่มของเด็กหญิง นั่งเรือจ้างข้ามฟาก ไปเดินเล่นกันที่หาดทราย ตรงข้ามกับตลาดเจ็ดเสมียน

 20111211 1924029268

หาดทรายตรงข้ามกับตลาดเจ็ดเสมียน กว้างใหญ่ไพศาล ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว

12347

โรงเรียนวัดเจ็ดเสมียนในตอนเช้า

เรียนท่านผู้อ่าน ท่านได้อ่านเรื่องนี้แล้ว อ่านไปเรื่อยๆนะครับ เพราะว่าในตอนแรกๆนี้ ท่านจะยังไม่รู้ว่าใครเป็นใครในเรื่องนี้ เรื่องราวต่างๆจะเปิดตัวคนที่เกี่ยวข้องขึ้นมาเรื่อยๆ และเรื่องนี้เป็นเรื่องสมัยเก่าแล้ว จึงไม่ค่อยมีภาพมาให้ชมกันครับ

 

100 kaew2

นายแก้ว ผู้เขียน ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

 20100211 1098207529   
 
บรรดาเด็กตลาดเจ็ดเสมียน ที่หาดทรายท่าน้ำ ในตอนบ่ายวันหนึ่ง

สวัสดีครับ วันนี้ผมมีโอกาสดีที่จะมาแนะนำตัวให้ท่านได้รู้จัก ผมชื่อนายแก้ว เป็นคนตลาดเจ็ดเสมียน ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี หรือพูดให้ชัดอีกทีหนึ่งผมเกิดที่ ตลาดเจ็ดเสมียนก็แล้วกันนะครับ

เมื่อสมัยที่ผมเป็นเด็กวิ่งเล่นอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนนั้น เป็นช่วงที่ผมมีความสุขมากช่วงหนึ่ง และมีเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นกับผมและเพื่อนเด็กในตลาดเจ็ดเสมียนมากมาย จึงเป็นที่จดจำอยู่ในใจของผมตลอดมา

ชีวิตในวัยเด็กท่านผู้อ่านก็รู้อยู่แล้วว่าตอนเป็นเด็กนั้น ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร มีความเป็นอยู่อย่างสบาย เล่นกับเพื่อนๆด้วยกันทั้งวันตามประสาเด็ก ตื่นเช้าก็กิน แล้วก็ไปโรงเรียน ตอนบ่ายโรงเรียนเลิกกลับมา ก็โยนหนังสือเอาไว้แล้วก็ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ มืดแล้วก็เข้านอน ผมจึงบอกว่าชีวิตในวัยเด็กนั้นเป็นชีวิตที่มีความสุขที่สุด

ผมอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียนจนกระทั่งเรียนจบที่โรงเรียนในอำเภอ แล้วก็ไปผจญความวุ่นวายในชีวิตในกรุงเทพฯโดยการไปเรียนหนังสือต่อ เรื่องมันยืดยาวครับ เอาเป็นว่าในตอนนี้ผมอยากจะเล่าชีวิตในวัยเด็กของผมที่ตลาดเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีก่อนดีกว่าครับ

ที่ตลาดเจ็ดเสมียน เพื่อนของผมมีหลายคนมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง บางคนก็มีอายุแก่กว่าผมนิดหน่อย บางคนก็เกิดปีเดียวกัน บางคนก็อ่อนกว่าผมหน่อย มองดูแล้วก็ตัวเท่าๆกันนั่นแหละครับ

ที่ผมต้องบอกท่านผู้อ่านดังนี้ก็เพราะว่า ที่ตลาดเจ็ดเสมียนที่ผมอยู่นั้น ไม่ได้มีผมคนเดียว แต่ยังมีเพื่อนๆรุ่นๆเดียวกันอีกหลายคน แถมพ่อแม่ของแต่ละคนนั้นยังเป็นเพื่อนด้วยกันมาตั้งแต่พวกผมยังไม่เกิด จะเรียกว่าพวกเขารุ่นพ่อแม่นั้นเป็นหนุ่มสาวรุ่นแรกๆของตลาดเจ็ดเสมียนก็ว่าได้

ผมเริ่มต้นคร่าวๆโดยการแนะนำตัว และบอกให้รู้ถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว และต่อไปถ้าท่านจะอ่านต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ท่านก็จะได้รู้มากขึ้นเรื่อยๆ ชื่อคน ชื่อสถานที่ ก็จะเปิดตัวมาเรื่อยๆ

 
 IMG 5611

ลักษณะของตลาดเจ็ดเสมียน แบ่งเป็นสองแถวหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางโล่งเป็นลานกว้าง ทางซ้ายของภาพตลาดแถวเก่า แถวใหม่ขวามือของภาพ สุดตลาดที่มองเห็นเป็นท่าน้ำ ซึ่งแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน (นายแก้ว ถ่ายภาพ)

ตลาดเจ็ดเสมียนนั้น เป็นชุมชนหนึ่งซึ่งมีผู้คนไม่มากนัก ก็เหมือนกับตลาดเล็กๆที่อยู่ในชนบททั่วๆไป ตลาดเจ็ดเสมียน ตัวตลาดเป็นสองแถว หันหน้าเข้าหากัน ตลาดทั้งสองแถวนี้ไม่ได้สร้างพร้อมกัน หรือสร้างในเวลาใกล้ๆกันหรอกครับ

ตลาดแถวแรกนั้นสร้างขึ้นมานานแล้ว สร้างก่อนที่ผมจะเกิด มีคนเจ็ดเสมียนรุ่นแรกๆอาศัยทำมาค้าขายอยู่ที่ห้องแถวแรกนี้ ต่อมาอีกหลายปี ผู้นำชุมชนคงเห็นว่า ผู้คนเริ่มเข้ามาอยู่ที่เจ็ดเสมียนมากขึ้น ก็เลยสร้างตลาดขึ้นอีกแถวหนึ่ง ตลาดจึงมีเพียงสองแถวมาถึงทุกวันนี้

ในสมัยนั้น ตลาดเจ็ดเสมียน นับว่าเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมต่างๆและการค้าขาย ในวันขึ้นหรือแรม  ๘ ค่ำ ๑๓ ค่ำ จะมีตลาดนัดตั้งแต่เช้ามืด และจะเลิกวายไปประมาณเพล หรือเกือบเที่ยง พ่อค้าแม่ค้าในแถบตลาดโพธาราม ตำบลใกล้เคียง หรือเลยไปทางตัวจังหวัดราชบุรีก็มาค้าขายกันที่ตลาดเจ็ดเสมียนนี้

 
IMG 5625
 

 ประตูวัดและประตูโรงเรียนชุมชนวัดเจ็ดเสมียน (นายแก้ว ถ่ายภาพ)

เพราะว่าตลาดเจ็ดเสมียนในอดีต เป็นศูนย์รวมเส้นทางค้าขาย มีภูมิประเทศที่ดี ตัวตลาดตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง การเดินทางมาค้าขายโดยทางเรือสะดวกมาก และเป็นที่นิยมของผู้ค้าทางเรือ และที่ตำบลเจ็ดเสมียนตั้งแต่ครั้งอดีต จะมีเทศกาลต่างๆ ตลอดทุกครั้งที่เป็นวันเทศกาล  เช่นเข้าพรรษา ออกพรรษา ลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น จนถึงปัจจุบันนี้

ตลาดเจ็ดเสมียนยังมีรถไฟสายไต้ผ่านด้วย สถานีเจ็ดเสมียนมีรถไฟจอดทุกขบวน นอกจากรถด่วนเท่านั้นที่ไม่จอด การเดินทางมาที่ตลาดเจ็ดเสมียนจึงสะดวก

ในปัจจุบันนี้การเดินทางเข้าไปในตลาดเจ็ดเสมียนสะดวกยิ่งขึ้น เพราะว่ามีทางรถยนต์ที่จะไปในจังหวัดทางภาคไต้ จะต้องผ่านทางแยกเข้าตลาดเจ็ดเสมียน

ในตอนแรกนี้ผมเพียงแต่กล่าวนำเรื่อง เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจ ถึงสถานที่และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นฉากของผมในวัยเด็ก ในเรื่องนี้มีตัวละครไม่มากนักในแต่ละตอน ค่อยๆอ่านติดตามไปเรื่อยๆแล้วก็จะเข้าใจไปเองครับ

 
 
100 kaew2
 
นายแก้ว ผู้เขียน อังคารที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙