เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

add

    ยืนยง โอภากุล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ แอ๊ด คาราบาว เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชาวไทย เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 ที่ ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ในครอบครัวชนชั้นกลางของคนไทยเชื้อสายจีน เป็นบุตรชายฝาแฝดคนสุดท้องของ นายมนัส โอภากุล (แซ่โอ) และ นางจงจินต์ แซ่ตั้ง (ปัจจุบัน บิดาและมารดาเสียชีวิตแล้ว)

     ยืนยง โอภากุล มีจิตใจรักเสียงเพลงและดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ จากการที่เป็นชาวสุพรรณบุรีโดยกำเนิด จึงได้ซึมซ่าบการละเล่นพื้นบ้านของภาคกลาง เช่น ลำตัด, เพลงฉ่อย, เพลงอีแซว รวมถึงรำวง และเพลงลูกทุ่ง จากการที่พ่อ คือ นายมนัส เป็นผู้จัดการวงดนตรีลูกทุ่ง ต่อมาเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้รับอิทธิพลจากดนตรีแนวตะวันตกจึงหันมาเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกต่าง ๆ เช่น กีตาร์ ซึ่งเหล่านี้ได้เป็นอิทธิพลในการเป็นนักดนตรีในเวลาต่อมา

     ยืนยงเริ่มเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย และเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาต่อเหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไป โดยขอติดมากับรถขนส่งไปรษณีย์ เข้าเรียนต่อใน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย (โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย) และต่อในระดับปริญญาตรี สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 1 ปี (ในปี พ.ศ. 2556 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีไทยสมัยนิยม จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

     ที่ฟิลิปปินส์ ยืนยง โอภากุลได้พบกับเพื่อนคนไทยที่ไปเรียนหนังสือที่นั้น คือ สานิตย์ ลิ่มศิลา หรือ ไข่ และ กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือ เขียว ซึ่งยืนยงได้มีโอกาสฟังเพลงของ เลด เซพเพลิน, จอห์น เดนเวอร์, ดิ อีเกิ้ลส์ และปีเตอร์ แฟลมตัน จากแผ่นเสียงที่ ไข่ สานิตย์ ลิ่มศิลา สะสมไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมา ทั้ง 3 จึงร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า "คาราบาว" เพื่อใช้ในการแสดงบนเวทีในงานของสถาบัน โดยเล่นดนตรีแนวโฟล์ค

เมื่อ ยืนยง โอภากุลสำเร็จการศึกษาและกลับมาเมืองไทย ได้ทำงานประจำเป็นสถาปนิกในสำนักงานเอกชนแห่งหนึ่ง และมีงานส่วนตัวคือรับออกแบบบ้านและโรงงาน ต่อมาเมื่อไข่และเขียวกลับมาจากฟิลิปปินส์ ทั้ง 3 ได้เล่นดนตรีร่วมกันอีกครั้งโดยเล่นในห้องอาหารที่โรงแรมวินเซอร์ ซอยสุขุมวิท 20 และต่อมาย้ายไปเล่นที่โรงแรมแมนดาลิน สามย่าน โดยขึ้นเล่นในวันศุกร์และเสาร์ แต่ทางวงถูกไล่ออกเพราะขาดงานหลายวันโดยไม่บอกกล่าว

     เมื่อวงถูกไล่ออก ไข่ จึงได้แยกตัวออกไปทำงานรับเหมาก่อสร้างอยู่ทางภาคใต้ แอ๊ดและเขียวยังคงเล่นดนตรีต่อไป โดยเล่นร่วมกับวง โฮป ต่อมาปี พ.ศ. 2523 ดร.ยืนยง โอภากุล ได้ทำงานเป็นสถาปนิก ประจำสำนักงานบริหารโครงการ ของการเคหะแห่งชาติ ส่วนเขียวทำงานเป็นวิศวกร ประเมินราคาเครื่องจักรโรงงานอยู่กับบริษัทของฟิลิปปินส์ที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย และทั้งคู่จะเล่นดนตรีในตอนกลางคืน โดยเล่นประจำที่ดิกเก็นผับ ในโรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท

มีชื่อเสียง[แก้]จุดเปลี่ยนของชีวิต ยืนยง โอภากุล อยู่ที่การรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์อัลบั้มชุดแรกให้กับวงแฮมเมอร์ ในปี พ.ศ. 2522 ในชุด "บินหลา" โดย ยืนยง โอภากุล ยังเป็นผู้ออกแบบปกอัลบั้มด้วย ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ทำให้แฮมเมอร์เป็นที่รู้จักในวงการเพลง และปี พ.ศ. 2523 แอ๊ดยังได้แต่งเพลง ถึกควายทุย ให้แฮมเมอร์บันทึกเสียงในอัลบั้ม "ปักษ์ใต้บ้านเรา" อัลบั้มชุดดังกล่าวทำให้แฮมเมอร์โด่งดังอย่างมาก หลังจากนั้นจึงได้ร่วมกับวงแฮมเมอร์ออกอัลบั้มเพลงขึ้นมาในชื่อ "คณะชานเมือง" โดยเป็นดนตรีแนวโฟล์คลูกทุ่ง และได้ร่วมแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ของพนม นพพรเรื่องหมามุ่ย ในปี พ.ศ. 2524

หลังจากนั้นตัวของ ยืนยง โอภากุล ก็มีความคิดที่ว่าหากจะออกอัลบั้มเป็นของตัวเอง คงจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน จึงร่วมกับเขียว ออกอัลบั้มชุดแรกของวงคาราบาวในชื่อชุด "ขี้เมา" ในปี พ.ศ. 2524 สังกัดพีค๊อก สเตอริโอ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ในระหว่างนั้นวงคาราบาวในยุคแรกก็ได้ออกทัวร์เล่นคอนเสิร์ตตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าไร บางครั้งมีคนดูไม่ถึง 10 คนก็มี

     คาราบาว มาประสบความสำเร็จในอัลบั้มชุดที่ 5 ของวง คือ ชุด "เมด อิน ไทยแลนด์" ที่ออกในปลายปี พ.ศ. 2527 ซึ่งมียอดจำหน่ายสูงถึง 5 ล้านตลับ และนับตั้งแต่นั้น ชื่อของ ยืนยง โอภากุล ก็เป็นที่รู้จักกันดีของคนไทย และออกผลงานเพลงร่วมกับวงคาราบาวมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้แสดงคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกาอีกด้วยโดย ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง เป็นผู้มีบุคคลิกเป็นตัวของตัวเองสูง กล้าพูดกล้าวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมอย่างแรงและตรงไปตรงมา โดยสะท้อนออกมาในผลงานเพลง ที่เจ้าตัวจะเป็นผู้เขียนและร้องเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีออกมามากมายทั้งอัลบั้มในนามของวงและอัลบั้มเดี่ยวของตนเอง จนถึงวันนี้ไม่ต่ำกว่า 900 เพลง รวมถึงการแสดงออกในทางอื่น ๆ ด้วย ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่ชอบและไม่ชอบ โดยผู้ที่ไม่ชอบคิดเห็นว่า เป็นการแสดงออกที่ก้าวร้าว รวมถึงตั้งข้อสังเกตด้วยถึงเรื่องการกระทำของตัวยืนยงเอง

บทบาททางสังคมและข้อวิจารณ์

     ยืนยง โอภากุล ไม่จำกัดตัวเองแต่ในบทบาทของศิลปินเพลงเท่านั้น แต่ยังเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์และมีผลงานเขียนหนังสือและแสดงละคร ภาพยนตร์ต่าง ๆ ด้วย อาทิ เช่น เรื่องพรางชมพู กะเทยประจัญบาน (พ.ศ. 2545) ละครเรื่อง เขี้ยวเสือไฟ ทางช่อง 9 (พ.ศ. 2544) ลูกผู้ชายหัวใจเพชร ทางช่อง 7 (พ.ศ. 2546) เป็นต้น รวมถึงการทำงานภาคสังคมและมูลนิธิต่าง ๆ และยังได้แต่งเพลงประกอบโฆษณาหรือโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละโอกาสด้วย

ในปลายปี พ.ศ. 2545 ยืนยง โอภากุล ได้เปลี่ยนบทบาทของตัวเองอย่างสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นหุ้นส่วนสำคัญคนหนึ่งของเครื่องดื่มชูกำลัง ยี่ห้อ "คาราบาวแดง" โดยใช้ชื่อวงดนตรีของตัวเองมาเป็นจุดขาย ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างในสังคมว่า สมควรหรือไม่ กับผู้ที่เคยสู้เพื่ออุดมการณ์มาตลอด มาเป็นนายทุนเสียเอง ในปัจจุบันประชาชนหลายคนก็ยังเคลือบแคลงในจุดยืนของยืนยง

     ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ระหว่างงานประกาศผลรางวัลสีสันอวอร์ด ครั้งที่ 23 ณ โรงแรมทาวน์อินทาวน์ คาราบาวได้รับเชิญร่วมแสดง ระหว่างการแสดงนั้น ยืนยง โอภากุล ได้ทุ่มกีตาร์ลงพื้นแล้วเดินออกจากเวที โดยไม่บอกกล่าวใด ๆ ทั้งสิ้น สร้างความงุนงงอย่างมาก มีการตั้งข้อสังเกตไว้หลายทาง อาทิ ความไม่พอใจของยืนยงต่อระบบเครื่องเสียงภายในงาน เสียงตะโกนของผู้ชมให้รีบแสดงให้จบเพื่อให้งานดำเนินต่อ เสียงตะโกน "สัญญาหน้าหมา" ที่ล้อเพลง "สัญญาหน้าฝน" เป็นต้น แต่ต่อมาเจ้าตัวได้ออกมาแถลงข่าวพร้อมขอโทษผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน โดยอ้างสาเหตุว่าไม่พอใจทีมงานที่จัดระบบเสียงได้ไม่ถูกใจประกอบพักผ่อนน้อยตั้งแต่เสร็จจากงานคอนเสิร์ตเวโลโดรม รีเทิร์น ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน

ชีวิตส่วนตัว

     ชีวิตส่วนตัว ยืนยง โอภากุล มีชื่อเป็นภาษาจีนกลางว่า "หูฉุนฉาง" แปลว่า "เกิดบนดิน" ชอบเลี้ยงไก่ชนซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ และมีฟาร์มไก่ชนเป็นของตัวเอง รวมถึงยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมส่งเสริมอาชีพไก่ชนไทย นอกจากคาราบาวแดงแล้ว ยังมีกิจการทางดนตรีอีก คือ มีห้องอัดเสียงที่บ้านของตัวเอง ชื่อ เซ็นเตอร์ สเตจ สตูดิโอ (มองโกล สตูดิโอ) ซึ่งเป็นสตูดิโอระดับชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งของเมืองไทย และมีบริษัทเพลงชื่อ มองโกล เรคคอร์ด สมรสกับนางลินจง โอภากุล หญิงชาวบุรีรัมย์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นหญิง 2 คน คือ ณิชา (เซน) และ ณัชชา (ซิน) โอภากุล และชาย 1 คน คือ วรมันต์ โอภากุล (โซโล)