คนจีนกับคนไทย แยกกันไม่ออก ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยามีคนจีน อยู่ในเมืองถึงหนึ่งในสามส่วน สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตาก มีทหารเอกชาวจีน ร่วมรบและช่างจีนเมืองจันทบุรีต่อเรือรบกู้ชาติ สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 คนจีนเดินทางเข้าสู่เมืองสุพรรณ ผสมกับชาติพันธุ์พื้นถิ่นและเชลยศึกจากประเทศลาว
ย้อนไป 50 ปีก่อน งานทิ้งกระจาดสุพรรณบุรี มีความยิ่งใหญ่ ไม่แพ้ กับงานประจำปี วัดป่าเลไลยก์ ซึ่งผู้ใหญ่ ในสมัยนั้น โดยเฉพาะแม่บ้าน จะต้องไปงานทิ้งกระจาดนี้ เพื่อซื้อถ้วยชาม หม้อไห ของใช้ในบ้าน ในครัวเรือน เพิ่มเติม หรือชดเชย ทีชำรุด เพราะมีหลายแบบ ราคาก็ไม่แพง
ผมมีความทรงจำ ที่แม่นยำในวัยเด็ก อายุ 14 ปี ปี 2514 เรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น "คุณพ่อ" ได้พาผมไปเที่ยวงานทิ้งกระจาดในตอนกลางคืน กลางวันไม่นิยมไปเพราะไม่มีการแสดง การเดินทาง คือ นั่งเรือจากท่าน้ำตลาดเก้าห้อง-วัดลานคา ไปขึ้นที่ท่าเรือแดง ตลาดเก่าเมืองสุพรรณ
ผมแต่งชุดนักเรียนไป (กลางคืนนะ –พ่อบอกว่ากันหลง บอกเขาไปว่าอยู่โรงเรียนอะไร เขาจะพามาส่ง) คุณพ่อพาไปดูหนัง เรื่อง "เพชรพระอุมา" แสดงโดย วิทยา เสสวัฒน์ ช่างตัดเสื้อ รับบทพระเอก รพิน ไพรวัลย์ สถานที่จัดฉาย ภาพยนตร์ คือ "โรงกระดานเกียรติชัย" ยังเห็นกระดานเต็มไปหมด คนดูมาก และต้องยืนดูจบจบเรื่อง เหตุที่ต้องฉาย ในโรงกระดาน เพราะป้องกันฝนตกชุกในเดือนสิงหาคม
งานทิ้งกระจาด ของสุพรรณบุรี มีขึ้นประมาณปี พ.ศ.2480 โดยชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสุพรรณบุรี ยุคแรกๆ ก่อนหน้านั้น ยังไม่ศาลเจ้าเป็นของตนเอง ยังอยู่ในการก่อร่างสร้างตัว รัชกาลที่ 3 คนจีนเริ่มเข้ามาในสุพรรณ ส่วนมากเป็นจีนแต้จิ๋ว จีนอื่นก็มี แต่น้อยกว่า แต่ก็ถือเป็นเครือญาติชนชาติเดียวกัน
ชาวจีน ยุคแรก เมื่อมาถึงสุพรรณ ยังไม่ได้สร้างศาลเจ้า โรงเจ เห็นเจ้าพ่อหลักเมือง ของสุพรรณบุรี ที่คนท้องถิ่นนับถือ จึงถือเอาเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นที่เคารพนับถือ เมื่อทำสิ่งใดสำเร็จ สมประสงค์ ก็ยิ่งนับถือมากขึ้น จนในที่สุดมีการจัดการโดยคนจีน (ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์เรื่องสุพรรณบุรี)
จนในที่สุดก็ตั้งกรรมการดูแลศาลหลักเมือง คนจีนเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมแข็ง เมื่อตั้งหลักได้จึงสร้าง โรงเจ ขึ้นที่หน้าวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี สมัยผมเรียนที่โรงเรียนการช่างสุพรรณบุรี ปี 2517 ก็ข้ามฝากที่นี่
ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (ขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปกร 2478) คนจีนได้ดูแลครอบครองทั้งหมดได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ สถาปัตยกรรม ฮินดูและไทยพื้นถิ่น กลายเป็นสถาปัตยกรรมจีน
งานทิ้งกระจาดของสุพรรณ จึงต้องมีการแห่เจ้าพ่อหลักเมือง ที่เป็นฮินดู เพราะคนจีนยุคแรก ได้ยึดถือเป็นที่พึ่งทางใจ แต่ก่อนเริ่มมาบุกเบิกเมืองสุพรรณ จนตั้งหลักได้ ในที่สุด
ความเป็นมา ของงานทิ้งกระจาดนั้น ถือเป็นการทำบุญ ให้กับผี ในพุทธประวัติ แบบมหายานผสมเต๋าที่ลงตัว ชาวจีนในสุพรรณ ก็เหมือนชาวจีนทั่วไป ล่องเรือมาจากเมืองจีน ล้มตายด้วยความเจ็บไข้ เรืออับปางเมื่อตั้งหลักได้ ได้สร้างศาลเจ้า โรงเจ
งานทิ้งกระจาด คือการทำบุญอุทิศให้แก่บรรพชนร่วมชาติผีไม่มีญาติ คำว่าทิ้งกระจาดนั้น คือ ทิ้งสิ่งของให้คนมาร่วมงาน แต่ของบางอย่าง ไม่เหมาะสม จึงต้อง "ใส่กระจาด" จึงเรียกว่า "งานทิ้งกระจาด" เพื่อความสะดวกได้พัฒนาเป็นไม้ ติ้ว ไปแลกเอาของในภายหลัง
แต่ก่อนนั้น เป็นงานใหญ่ ฉายหนังชนโรง ตรงกับหนังโรงหนัง ในกรุงเทพโดย อ.อายุการภาพยนตร์ มีการถ่ายทอดวิทยุ พล.1 โดย “คุณอาประชุม” เขาเรียกกันอย่างนั้น ผมจำชื่อเต็มไม่ได้ มีดาราชื่อดังมาปรากฏตัวบนเวที ดนตรี บางปีใช้โรงเรียนนเรศวร กันฝนตก ผู้คนมากมายใช้ผ้าผูกข้อมือลูก ไว้กับข้อมือพ่อแม่ก็มี
แต่ปัจจุบัน งานทิ้งกระจาด ดูยิ่งใหญ่ มีการโฆษณาออกสื่อ แค่พิธีเปิดงานทิ้งกระจาด มีกระถางธูปจากทุกอำเภอ มาร่วมงาน แต่สถานที่จัดงาน บริเวณโรงเจ ดูเงียบเหงา ผมไปดูแทบทุกปี มีร้านค้าออกงานเต็มพื้นที่ แต่สถานทีจัดงานหน้าสมาคมชาวจีน (ตงฮั้วฮ่วยก้วง) ตรงข้ามสมาคม มีการแสดงงิ้ว 1 โรง ลิเก1โรง และมีชิงช้าสวรรค์ ไฟก็มืด คนเดินมาไม่ถึงอยู่แค่ร้านค้า ตามถนนหอคอยถึงหน้าวัดปราสาททอง
ผมได้ขึ้นไปเพื่อเก็บภาพ บนชิงช้าสวรรค์ หลับตาระลึกถึง ความยิ่งใหญ่ ในอดีตของ "งานกระจาด" สมัยผมมากับพ่อแม่ ในวัยเด็กเปรียบเทียบกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า มันแตกต่างกัน "ราวฟ้ากับดิน" คนมาเดินดูของ ซื้อลูกชิ้นกินแล้วกลับ ประมาณนั้น
ในยุคโลกนี้ คือ พื้นที่เดียวกัน การจัดงานอะไรก็ยาก หากไม่เจ๋งจริง เพราะผู้คนมีทางเลือกมากที่จะเสพความพอใจ
อาจารย์ถนัด ยันต์ทอง
3 สิงหาคม 2559
บทความต้นฉบับจาก facebook อาจารย์ถนัด ยันต์ทอง