เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

     ศาลตายาย สุพรรณบุรี ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับทางเข้าสวนเฉลิมภัทรราชินี (หอคอยบรรหาร) ทางฝั่งถนนนางพิม ท่านที่ตั้งใจจะมาเที่ยวที่หอคอยบรรหาร ก็สามารถเดินมาสักการะศาลตายาย เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนได้ครับ ในศาลตายาย ทางด้านหลังจะมีทางเดินลอดเพื่อสิริมงคลปลอดภัยแคล้วคลาดอุบัติภัยต่าง ๆ และมีการเขียนใบโพธิ์ทองเพื่ออธิษฐานขอพรด้วยครับ

ศาลตายาย สุพรรณบุรี

ประวัติ ศาลตายาย จังหวัดสุพรรณบุรี

     จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งทางภูมิภาคตะวันตก ตั้งแต่ยุคหินใหม่ มีอายุราว 3,500 - 3,800 ปี คนยุคโน้นเห็นธรรมชาติแปรปรวน ฝนตกฟ้าร้อง พายุพัดหนักต้นไม้หักโค่น ไฟไหม้ป่า ฯลฯ คิดว่ามีภูติผีปีศาจทำให้เกิดขึ้น จึงพากันสร้างศาลกราบไหว้ เป็นความเชื่อกันมาถึงปัจจุบัน

ศาลตายาย สุพรรณบุรี

     เมื่อ พ.ศ.2435 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการที่เมืองสุพรรณ เห็นศาลเจ้าที่เมืองสุพรรณมากมาย จึงนิพนธ์ไว้ว่า "เมืองสุพรรณ แปลกกับเมืองอื่น ๆ บรรดาเคยเห็นมาแต่ก่อน คือ อย่างหนึ่งมีศาลเจ้ามากกว่าไหนๆ หมด จะไปทางไหนบริเวณเมือง เป็นแลเห็นศาลเจ้าไม่ขาดตา เป็นศาลขนาดย่อม ๆ ทำด้วยไม้แกมมุงกระเบื้อง ก็มี ทำด้วยไม้ไผ่มุงจากก็มี ล้วนมีผ้าแดงหรือผ้าสีชมพูห้อยไว้เป็นเครื่องหมาย สังเกตตรงที่จวนเจ้าเมืองมีศาลเจ้ารายล้อมถึง 4 ศาล"

ศาลตายาย สุพรรณบุรีศาลตายาย สุพรรณบุรี

     ศาลดังกล่าวนี้ขาวตลาดจังหวัดสุพรรณบุรีเรียกว่า "ศาลตายาย" ไม่มีใครทราบประวัติจริง สันนิษฐานว่า สองตายายคงทำประโยชน์ให้แก่ชาวเมืองสุพรรณ จึงมีผู้สร้างศาลเพื่อกราบไหว้บูชา

     เมื่อ นายพัฒน์ บุณยรัตพันธ์ มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี (พ.ศ.2500-2509) ได้ย้ายศาลตายาย มาสร้างในที่ดินของเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ถนนนางพิม ต่อมา นายจรินทร์ กาญจโนมัย ผู้ว่าราชการจังหวัด ปรับปรุงศาลใหม่ให้ดีขึ้น และเชิญ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2524

ศาลตายาย สุพรรณบุรี

     ศาลตายาย สุพรรณบุรี เป็นศาลหนึ่งที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวสุพรรณบุรี มุ่งให้ทุกคนปฏิบ้ติดี ปฏิบัติชอบแก่ส่วนรวม และชาติบ้านเมือง ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจาก ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา สส.จังหวัดสุพรรณบุรี นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ดำเนินการจนแล้วเสร็จ

ขอบคุณข้อมูลจาก ศาลตายาย จังหวัดสุพรรณบุรี โดย อาจารย์ มนัส โอภากุล (ผู้เรียบเรียง) เผยแพร่โดย คณะกรรมการศาลตายายจังหวัดสุพรรณบุรี (2 ธันวาคม 2544)

 share now